ฮาจาร์อีม

พิกัด: 35°49′40″N 14°26′32″E / 35.82778°N 14.44222°E / 35.82778; 14.44222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Ħaġar Qim)
ฮาจาร์อีม
ด้านหน้าวิหารหลักของฮาจาร์อีม
ก่อนการสร้างโครงขึงผ้าใบ
ฮาจาร์อีมตั้งอยู่ในประเทศมอลตา
ฮาจาร์อีม
ที่ตั้งฮาจาร์อีมในประเทศมอลตา
ที่ตั้งอิล-อเร็นดี มอลตา
พิกัด35°49′40″N 14°26′32″E / 35.82778°N 14.44222°E / 35.82778; 14.44222
ประเภทวิหาร
ความเป็นมา
วัสดุหินปูน
สร้างประมาณ 3,700–3,200 ปีก่อน ค.ศ.
สมัยระยะจกันตียา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นค.ศ. 1839–1954
ผู้ขุดค้นเจ. จี. แวนซ์
อันโตนีโอ อันเนตโต การัวนา
ทิมิสโตคลีส แซมมิต
ทอมัส เอริก พีต
จอห์น เดวีส์ เอวันส์
สภาพซากปรักหักพังที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี
ผู้ถือกรรมสิทธิ์รัฐบาลมอลตา
ผู้บริหารจัดการเฮริทิจมอลตา
การเปิดให้เข้าชมเปิด
เว็บไซต์เฮริทิจมอลตา
วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา
(ฮาจาร์อีม) *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ทิวทัศนียภาพฮาจาร์อีมหลังการสร้างโครงขึงผ้าใบ
ประเทศ มอลตา
ภูมิภาค **ยุโรปและอเมริกาเหนือ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iv)
อ้างอิง132
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4)
เพิ่มเติม1992, 2015
พื้นที่0.813 เฮกตาร์ (2.01 เอเคอร์)
พื้นที่กันชน63 เฮกตาร์ (160 เอเคอร์)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ฮาจาร์อีม (มอลตา: Ħaġar Qim; แปลว่า หินตั้ง, หินบูชา) เป็นหมู่วิหารหินใหญ่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเกาะมอลตาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีอายุย้อนไปถึงระยะจกันตียา (3,600–3,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[1] ถือเป็นหนึ่งในศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก[2] ใน ค.ศ. 1992 ยูเนสโกได้รับรองฮาจาร์อีมและโครงสร้างหินใหญ่อีก 4 แห่งของมอลตาให้เป็นแหล่งมรดกโลกในชื่อ "วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา"[3] วี. กอร์ดอน ไชลด์ ศาสตราจารย์สาขาโบราณคดียุโรปก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีในมหาวิทยาลัยลอนดอนระหว่าง ค.ศ. 1946–1957[4] เยี่ยมชมฮาจาร์อีมและเขียนพรรณนาว่า "ผมไปสำรวจซากปรักหักพังก่อนประวัติศาสตร์มาทั่วเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่เมโสโปเตเมียไปจนถึงอียิปต์ กรีซ และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ผมไม่เคยเห็นสถานที่ไหนเก่าแก่เท่านี้มาก่อน"[5]

ผู้สร้างฮาจาร์อีมใช้หินปูนแพลงก์ตอนโกลบิเจอไรนาในการก่อสร้างวิหาร ด้วยเหตุนี้ วิหารจึงประสบปัญหาการผุกร่อนจากลมฟ้าอากาศและการหลุดล่อนของพื้นผิวมาเป็นเวลานับพันปี[6] ใน ค.ศ. 2009 งานขึงผ้าใบป้องกันบริเวณสิ่งก่อสร้างได้เสร็จสิ้น[7]

ภาพรวม[แก้]

หมู่วิหารหินใหญ่ฮาจาร์อีมตั้งอยู่บนขอบด้านใต้ของเกาะมอลตา บนแนวสันที่ปกคลุมด้วยหินปูนโกลบิเจอไรนาซึ่งไม่แข็งมากนัก หินปูนชนิดนี้เป็นหินที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 บนเกาะมอลตา โดยโผล่ขึ้นมาบนพื้นที่ประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่เกาะ[8] ผู้สร้างฮาจาร์อีมนำหินปูนชนิดนี้มาใช้ในสถาปัตยกรรมของหมู่วิหารอย่างกว้างขวาง[9] หินทั้งหมดที่โผล่ให้เห็นบนเกาะก่อตัวขึ้นจากการทับถมในสมัยโอลิโกซีนและสมัยไมโอซีนตามการแบ่งมาตราธรณีกาล

ห่างจากหมู่วิหารออกไปไม่กี่ร้อยเมตรเป็นที่ตั้งของแผ่นป้ายอนุสรณ์แด่พลเอก วอลเตอร์ คองกรีฟ (ผู้ว่าราชการมอลตาระหว่าง ค.ศ. 1924–1927) และหอฮัมรียาซึ่งเป็นหนึ่งในหอสังเกตการณ์สิบสามแห่งที่สร้างโดยปรมาจารย์มาร์ติน เด เรดิน ส่วนหมู่บ้านอิล-อเร็นดีตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 2 กิโลเมตร

หมู่วิหาร[แก้]

หมู่วิหารฮาจาร์อีมประกอบด้วยวิหารหลักและโครงสร้างหินใหญ่ด้านข้างอีก 3 โครงสร้าง[10] วิหารหลักสร้างขึ้นในช่วงระหว่าง 3,600 ถึง 3,200 ปีก่อนคริสต์ศักราช อย่างไรก็ตาม ซากปรักหักพังทางทิศเหนือนั้นมีอายุเก่าแก่กว่ามาก[11]

ด้านหน้าของวิหารมีความโดดเด่นด้วยทางเข้าที่มีโครงสร้างหินสามแท่ง (เสากับทับหลัง) แผ่นหินตั้ง และที่นั่งด้านนอก ทางเข้าจากด้านนอกยังทำหน้าที่เป็นทางเดินภายในและเชื่อมต่อห้องขนาดใหญ่ 6 ห้องเข้าด้วยกัน มุขโค้งด้านขวาสร้างเป็นช่องโค้งเพื่อป้องกันไม่ให้แผ่นหินตั้งตรงหล่นเข้ามาด้านใน กำแพงด้านนอกซึ่งสร้างจากบล็อกหินตั้งขนาดใหญ่ยื่นมาเข้าด้านใน จึงทำให้อาคารมีความมั่นคงอย่างมาก[12]

จากทางเข้าด้านหน้า ปรากฏลานกว้างพร้อมกำแพงรับน้ำหนักและทางเดินผ่านกลางอาคาร[13] แต่เดิมองค์ประกอบทั้งสองได้รับการออกแบบตามสถาปัตยกรรมหินใหญ่แบบมอลตา แต่เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปก็มีการดัดแปลงแบบไปอย่างมาก[1] ทางเข้าอีกทางหนึ่งนำไปสู่บริเวณกั้นล้อมแยกจากกัน 4 บริเวณซึ่งสร้างขึ้นแทนที่มุขโค้งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ[14][15]

ฮาจาร์อีมมีลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นฐานคล้ายคลึงกับหมู่วิหารลิมนัยดรา, ฮัลตาร์ชีน และจกันตียา รูปร่างพื้นฐานประกอบด้วยลานด้านหน้าและส่วนหน้าของอาคาร ห้องใหญ่ทรงรียาว ห้องเล็กครึ่งวงกลม และทางเดินตรงกลางที่เชื่อมระหว่างห้องต่าง ๆ โครงแบบเช่นนี้มีศัพท์เรียกกันโดยทั่วไปว่า "รูปดอกจิกสามแฉก"[16] มีการเสนอด้วยว่ารูปร่างของวิหารเลียนแบบประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์ที่พบภายในวิหารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง[17]

ลักษณะสถาปัตยกรรมของฮาจาร์อีมเผยให้เห็นความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้กับพิธีกรรมเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์หรือความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่รูปปั้นขนาดจิ๋วที่อ้วนท้วม ร่วมกับการวางตำแหน่งสอดรับกับแสงอาทิตย์และหินตั้งโด่แท่งหนึ่งที่มีการถกเถียงกันว่าสื่อถึงลึงค์หรือไม่[18][19] การปรากฏของแท่นบูชาที่มียอดเว้าบ่งชี้ว่าอาจเคยใช้ประกอบพิธีบูชายัญสัตว์[20] มีข้อเสนอว่าช่องประตูที่มีหินกั้นกลางวิหารอาจเป็นพื้นที่สำหรับโหร[21] ในการขุดค้นทางโบราณคดียังพบเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายในพื้นที่หมู่วิหาร ตัวอย่างที่ดีที่สุดสามารถดูได้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ[18][21]

ไม่มีการฝังศพในวิหารหรือบริเวณโดยรอบฮาจาร์อีมและยังไม่มีการค้นพบกระดูกมนุษย์ในวิหารใด ๆ ของมอลตา[22] แต่พบกระดูกสัตว์บูชายัญจำนวนมาก คาดกันว่าการสร้างหมู่วิหารฮาจาร์อีมเกิดขึ้นในระยะ 3 ระยะตามการวิเคราะห์ทางทฤษฎี โดยเริ่มต้นจากมุขโค้งของ "วิหารเก่า" ทางทิศเหนือ ตามมาด้วย "วิหารใหม่" และในที่สุดโครงสร้างทั้งหมดก็เสร็จสมบูรณ์[23]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Introduction". Heritage Malta. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2013. สืบค้นเมื่อ 14 March 2009.
  2. "Malta Temples and The OTS Foundation". Otsf.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2014. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  3. "Megalithic Temples of Malta - UNESCO World Heritage Centre". Whc.unesco.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 October 2013. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  4. "Childe, Vere Gordon (1892 - 1957) Biographical Entry - Australian Dictionary of Biography Online". Adb.online.anu.edu.au. 19 October 1957. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 April 2011. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  5. Joseph S. Ellul; H.B. ExtraReverendDoctorColinJames Hamer; Creativity House; The Neith Network Library. "ÄŚaÄĄar Qim and Mnajdra (1)". Beautytruegood.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2013. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  6. Trump, David (2002). Malta prehistory and temples. Photographer Daniel Cilia. Midsea Books. p. 142. ISBN 978-99909-93-93-6.
  7. "Prehistoric temples get futuristic roof". Times of Malta. 7 April 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 April 2009. สืบค้นเมื่อ 2 July 2009.
  8. Euro-Mediterranean Water Information System (EMWIS) (2007). "Malta Focal Point: Geology". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 February 2012. สืบค้นเมื่อ 14 March 2009.
  9. Trump. "Malta: An archaeological guide": 95. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  10. "Hagar Qim". Web.infinito.it. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  11. "Prehistoric Archaeology of Malta - Hagar Qim and Mnajdra Temple". Bradshawfoundation.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 April 2014. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  12. "Places of Interest - Hagar Qim". Maltavoyager.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 December 2012. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  13. Trump, David; Photographer Daniel Cilia (2002). Malta prehistory and temples. Midsea Books. p. 98. ISBN 978-99909-93-93-6.
  14. Żammit, Sir T.; K. Mayrhofer (1995). The Prehistoric Temples of Malta and Gozo. Malta.
  15. Żammit, Mayrhofer. "The Prehistoric Temples of Malta and Gozo": 31. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  16. The Megalithic Temples of Malta  Draft Description (PDF), HeritageMalta.org, archived from the original เก็บถาวร 20 ตุลาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  17. "Mary Marzo". Goddesshealing.com. 2 August 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2013. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  18. 18.0 18.1 Sultana, Sharon. The National Museum of Archaeology: The Neolithic Period. Heritage Books, 2006. ISBN 99932-7-076-8
  19. Stroud, Katya. Ħaġar Qim & Mnajdra Prehistoric Temples: Qrendi. Heritage Books, 2010. ISBN 978-99932-7-317-2
  20. Renfrew, Colin, Morley, Iain and Boyd, Michael (Eds), Ritual, Play, and Belief in Evolution and Early Human Societies, Cambridge University Press 2018, p199, ISBN 978-1-107-14356-2
  21. 21.0 21.1 "Places of Interest: Mnajdra". Maltavoyager.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 December 2012. สืบค้นเมื่อ 11 March 2009.
  22. "Excerpts from the book". Otsf.org. 9 July 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 March 2012. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.
  23. Frederick Muscat. "Maltese Templese". Geocities.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 October 2009. สืบค้นเมื่อ 6 May 2009.